อริยสัจ ๔
 ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์
ทุกข์ : ธรรมที่ควรรู้ มีดังนี้
โลกธรรม 8
          ความหมาย โลกธรรม 8 หมายถึง เรื่องธรรมดาของโลกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ หรือสิ่งที่ครอบงำมนุษย์ 8 ประการ
สาระสำคัญของโลกธรรม 8 สรุปดังนี้
          โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ (มนุษย์พอใจ)              
          1. ได้ลาภ                
          2. ได้ยศ
          3. มีสรรเสริญ           
          4. มีสุข 
          โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ (มนุษย์พอใจ)
          1. เสื่อมลาภ             
          2. เสื่อมยศ
          3. มีนินทา                
          4. มีทุกข์
2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
สมุทัย   ธรรมที่ควรละ มีดังนี้
กรรมนิกาย
                กรรมนิกาย คือ กฎแห่งการกระทำของมนุษย์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่ากฎแห่งกรรมซึ่งชาวพุทธมักสรุปหลักคำสอนเรื่องนี้ว่า ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว
กรรม 12
          กรรม 12 คือ กรรมที่จำแนกตามผลที่ได้รับ มี 12 ประเภท ดังนี้
          1. กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา 4 กรรม ได้แก่ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ กรรมที่ให้ผลชาติหน้า กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป และกรรมที่เลิกผล (อโหสิกรรม)
2. กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ 4 กรรม ได้แก่ กรรมที่ชักนำให้เกิด กรรมสนับสนุน กรรมตัดรอน  และกรรมบีบคั้น
          3.  กรรมที่ให้ผลตามลำดับความแรง 4 กรรม ได้แก่ กรรมหนัก กรรมที่ทำบ่อย ๆ จนเคยชินกรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย และกรรมสักแต่ว่าทำ (ไม่มีเจตนา)
มิจฉาวณิชชา 5
          มิจฉาวณิชชา 5 หมายถึง การค้าขายที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม 5 อย่างที่ชาวพุทธต้องละเว้นหรือไม่ควรทำ ได้แก่ การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ การค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร การค้าของมึนเมา และการค้ายาพิษ (สิ่งเสพย์ติด)
3. นิโรธ 
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
นิโรธ  : ธรรมที่ควรบรรลุ มีดังนี้
วิมุตติ 5
          วิมุตติ หมายถึง การหลุดพ้น ไม่มีความทุกข์ ภาวะที่ไร้กิเลส หรือภาวะที่ทุกข์ดับ (ความหมายเดียวกับคำว่า นิโรธ ) มี 5 ประการ  (เรียกย่อ ๆ ว่า สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ
          1.  หลุดพ้นด้วยการข่มกิเลส เป็นการระงับกิเลสด้วยการเจริญสมาธิ (สมถะ)
          2.  หลุดพ้นด้วยธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น หลุดพ้นจากความโกรธด้วยการให้อภัย หลุดพ้นจากความตระหนี่และความโลภด้วยการให้ทาน และหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัวด้วยการเสียสละ (วิปัสสนา)
          3.  หลุดพ้นอย่างเด็ดขาด คือ การทำลายกิเลสที่มีอยู่ให้หมดไปด้วยญาณขั้นสูงสุด (มรรค)
          4.  หลุดพ้นอย่างสงบราบคาบ คือ หลุดพ้นเป็นอิสระเพราะกำจัดกิเลสที่ครอบงำได้อย่างราบคาบ (ผล)
          5.  หลุดพ้นจนเกิดภาวะปลอดโปร่ง คือ การเข้าสู่ภาวะนิพพาน
4. มรรค คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้

มรรค มีองค์ ๘ ( องค์ หมายถึงความรู้ )

1.เห็นชอบ (สัมมาทิฏิฐิ) (ปัญญา) ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท โดยการเข้าใจชอบหรือเห็นชอบนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.ความเข้าใจคือความรู้ ความเป็นพหูสูตร ความมีสติปัญญา สามารถรอบรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตามข้อมูลที่ได้มา ความเข้าใจประเภทนี้เรียกว่า "ตามรู้" (อนุโพธ) เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ลึกซึ้ง 2.ส่วนความเข้าใจที่ลึกซึ้งซึ่งเรียกว่า"การรู้แจ้งแทงตลอด" (ปฏิเวธ) หมายถึงมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามสภาวะที่แท้จริง โดยไม่คำนึงถึงชื่อ และป้ายชื่อยี่ห้อของสิ่งนั้น การรู้แจ้งแทงตลอดนี้จะมีขึ้นได้ เมื่อจิตปราศจากอาสวะทั้งหลาย และได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ด้วยการปฏิบัติสมาธิเท่านั้น
2.ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) (ปัญญา) ได้แก่ ความตรึกที่เป็นกุศล ความนึกคิดที่ดีงาม (กุศลวิตก 3 ประกอบด้วย 1.ความตรึกปลอดจากกาม ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรบปรือสนองความอยากของตน 2. ความตรึกปลอดจากพยาบาท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคือง หรือ เพ่งมองในแง่ร้าย 3.ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียนด้วยกรุณาไม่คิดร้าย หรือมุ่งทำลาย)
3.เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) (ศิล) ได้แก่ วจีสุจริต 4 ประกอบด้วย 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดหยาบ 4.ไม่พูดเพ้อเจ้อ
4.กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) (ศิล) ได้แก่ กายสุจริต 3 ประกอบด้วย 1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม
5.เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) (ศิล) ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
6.พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) (สมาธิ) ได้แก่ สัมมัปปธาน 4 ประกอบด้วย 1.เพียรระวัง หรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น 2.เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว 3.เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น 4. เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
7.ระลึกชอบ (สัมมาสติ) (สมาธิ) ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย 1.การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย 2. การตั้งสติกำหนดพิจาณาเวทนา 3.การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต 4.การตั้งสติพิจารณาธรรม 8.ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) (สมาธิ) ได้แก่ ฌาน 4 ประกอบด้วย 1.ปฐมฌาณ 2.ทุติยฌาน 3.ตติยฌาน 4.จตุตถฌาณ ในทางปฏิบัตินั้น คำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์ที่ทรงอุทิศ พระองค์สั่งสอนในช่วงเวลา 45 ปีนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางสายกลางนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระองค์ทรงอธิบายทางสายนี้ โดยวิธิการ และใช้คำพูดที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของบุคคลโดยให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนา และศักยภาพในการเข้าใจ และตามได้ทันของบุคคลเหล่านั้น แต่สาระสำคัญของพระสูตรหลายพันสูตรที่กระจายอยู่ในคัมภัร์ต่างๆ ของพุทธศาสนา ล้วนแต่มีเรื่องเกี่ยวกับมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้ทั้งนั้น
จะต้องไม่เข้าใจว่า องค์ หรือส่วนประกอบ 8 ประการของทางสายกลางนี้ ต้องนำไปปฏิบัติทีละข้อ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขดังรายการที่ให้ไว้ข้างต้นนั้น องค์ต่างๆ เหล่านั้นจะต้องพัฒนาให้มีขึ้นพร้อมๆกันมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ขีดความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะให้เป็นไปได้ องค์เหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวโยงกัน และแต่ละองค์ก็ช่วยส่งเสริมองค์อื่นๆไปด้วย






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความโศกย่อมเกิดจากความรัก

ภาพุทธประวัติและบรรยาย

ประวัติวัดบ้านพราน ต. ศรีพราน อ. แสวงหา จ. อ่างทอง