ประวัติวัดบ้านพราน ต. ศรีพราน อ. แสวงหา จ. อ่างทอง
ตำนานวัดบ้านพราน
วัดบ้านพรานสร้างมาตั้งแต่ครั้งใดไม่มีใครทราบ ตามคำบอกเล่าของ หลวงปู่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเล่าให้ฟังว่า ผู้สร้างวัดบ้านพรานชื่อว่า นายพาน นางเงิน ผู้เป็นสามีภรรยา และนายกระปุกทอง ผู้เป็นบุตร ในระหว่างปีพ.ศ.๑๖๘๔
จากคำเล่าขานสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่า บริเวณนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นหลักฐาน จนกระทั่งเกิดสงครามขึ้น ได้มีกลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งเข้ามาพักอาศัยอยู่ในบริเวณนี้คาดว่าน่าจะเป็นพวกที่มีฐานะดีหรือ พวกเจ้าขุนมูลนาย เหตุที่สันนิษฐานเช่นนี้เพราะ ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้มีวัดร้างอยู่ถึง ๕ วัด คือ
๑.วัดช่องลม ( ปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดบ้านพราน )
วัดช่องลมมีสภาพเป็นซากโบราณสถาน ตั้งอยู่ในเขตโรงเรียนวัดบ้านพราน ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
สภาพโดยทั่วไป มีสภาพเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่พอสมควร ตั้งอยู่บนเนินดินสูงในเขตโรงเรียนวัดบ้านพรานในปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบได้มีการสร้างอาคารและเป็นทุ่งนา รวมทั้งบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นสระน้ำโบราณ นอกจากนี้ยังมีเนินดินที่เป็นโบราณสถานตั้งอยู่หลังโรงเรียน โดยมีต้นมะขามเก่าแก่ ๒ ต้น เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงในปัจจุบัน
สันนิษฐานกันว่า วัดช่องลมแห่งนี้คงเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรี
อยุธยาเป็นราชธานี ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานจากรูปแบบของสถาปัตยกรรม และลวดลายปูนปั้นที่ยังคงปรากฏอยู่ แต่ต่อมาคงถูกทิ้งร้างไปและทางราชการได้เข้ามาตั้งโรงเรียนวัดบ้านพรานขึ้น และเป็นที่น่าเสียดายว่ากรมศิลปากรมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่อย่างใดปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา ละทิ้งเรื่อง ราวประวัติศาสตร์แห่งนี้ และนับวันก็จะไม่หลงเหลืออะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
๒.วัดใหญ่ ( วัดบ้านพรานปัจจุบัน )
๓.วัดเล็ก ( ที่ตั้งศูนย์อเนกประสงค์ในปัจจุบัน )
๔.วัดกุฏิ ( วัด - กุด ) อยู่ทิศตะวันตกของวัดบ้านพราน
๕.วัดป่า ( หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีพรานในปัจจุบัน )
คนสมัยก่อน เมื่อฐานะดีมักสร้างวัดเป็นการเสริมสร้างบารมีของวงศ์ตระกูลบางวัดก็นำชื่อของผู้ที่สร้างมาเป็นชื่อของวัด เพื่อเป็นการประกาศฐานะของตน เองให้เป็นที่ประจักษ์ บางทีก็เป็นไปในเรื่องของความเชื่อ เรื่องของบาปบุญคุณโทษ และในบางท้องถิ่นก็ถือเป็นประเพณีที่ผู้นำในสังคมในขณะนั้นต้องเสริม สร้างบารมีของตนเองและของหมู่บ้านให้หมู่บ้านใกล้เคียงยำเกรง แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย
ต่อมาเกิดสงครามขึ้นอีก ผู้คนเหล่านี้ได้อพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น นำทรัพย์สมบัติบางส่วนที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ฝังดินไว้ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านร้างอีกครั้ง คนรุ่นหลังขุดพบทรัพย์สมบัติดังกล่าวได้มากมายหลายอย่างด้วยกัน
ด้วยสภาพป่าเป็นที่รกไม่มีผู้คนอาศัย ทำให้สัตว์นานาชนิดเข้ามาอาศัย จนนายพรานน้อยใหญ่เข้ามาอาศัยเพื่อจับสัตว์ ในบรรดานายพรานที่เข้ามานั้นได้มี
นายพรานผู้หนึ่งชื่อพรานอ่ำ ล่าสัตว์มานานจนสัตว์ต่างจดจำนายพรานอ่ำผู้นี้ได้
ที่วิหารร้างวัดใหญ่ มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งคือหลวงพ่อไกรทององค์ปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่า หลวงพ่อไกรทอง นั้น ก็เนื่องจากว่า คำว่า “ไกร ”นั้น เพี้ยนมาจากคำ
ว่า “ไตร ” ที่หมายถึงผ้าไตรอันมี จีวร สังฆาฏิ และสบง นั่นเอง ตามคำเล่าขาน
สืบต่อกันมานั้น ถึงวันดีคืนดี เวลาเที่ยงคืน “ ไกร ” จะเปล่งแสงโชติช่วงเป็นสี
ทองสว่างไสว บอกนิมิตหมายอันดีแก่ผู้พบเห็น เหล่าพวกนายพรานจึงพากันขนานนามว่า หลวงพ่อไกรทอง ตราบนั้นมา
คืนหนึ่งเป็นคืนวันเพ็ญ เดือน ๓ พรานอ่ำ มานั่งรอล่าสัตว์อยู่บริเวณหน้าวิหารซึ่งประดิษฐานองค์หลวงพ่อไกรทอง ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่นไม่มีสัตว์แม้แต่ ตัวเดียวผ่านมาในบริเวณนั้นเลยทำให้พรานอ่ำง่วงนอน ขณะครึ่งหลับครึ่งตื่นนั้นเองก็มีเนื้อตัวหนึ่งผ่านมา พอมาถึงหน้าพรานอ่ำเนื้อตัวนั้นก็ร้องทักพรานอ่ำว่า “ อ้าว อ่ำ ” พรานอ่ำตกตะลึงไม่ทันคว้าอาวุธ เนื้อตัวดังกล่าวก็วิ่งหนีหายไป
ทางหน้าวิหาร พรานอ่ำเกิดสำนึกบาป เดินเข้ามาที่วิหารวางอาวุธต่างๆเข้ากราบหลวงพ่อไกรทองให้คำมั่นสัญญาว่าต่อไปจะเลิกล่าสัตว์และตั้งใจทำบุญทำกุศล
เข้าบูรณะวัด พวกนายพรานคนอื่นๆเห็นนายพรานอ่ำทำเช่นนั้นก็กลับใจทำตามนายพรานอ่ำบ้าง บางคนก็บวชเป็นพระภิกษุในวัดใหญ่เพื่อเป็นการล้างบาป ต่อมาจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ บ้านพราน ” และวัดใหญ่ก็ได้ชื่อใหม่ตามชื่อของหมู่บ้านว่า “ วัดบ้านพราน ” ในกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น