ธรรมะก่อนวันพระ


ชีวิตที่รู้จักการปล่อยวาง คือชีวิตที่ห่างไกลจากทุกข์
ธรรมะนั้นปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้  และใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ 
ปฏิบัติเมื่อไหร่ ที่ไหน? ทุกข์ก็ไม่เกิดเมื่อนั้น ที่นั่น !
เพราะที่จริงธรรมะปฏิบัติที่ใจ ไม่ใช่สถานที่ สถานที่เป็นเพียงปัจจัยเอื้อเท่านั้นเอง
หน้าที่ของเรานั้น ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของผล
หากเหตุดี ผลก็ย่อมดี เหตุไม่ดี ผลก็ย่อมไม่ดี เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ที่สำคัญที่สุดคือการไม่รู้หน้าที่นั่นแหละที่ทำให้เราเสื่อม 

***********
ขอเพียงมี "สติ" ... อยู่ตลอดเวลา
พิจารณาถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่าย อสุภะ กัมมัฏฐาน วิปัสสนาญาณ
พิจารณาถึงโลกธรรม การได้ การเสีย การพลัดพราก
เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็รู้เท่าทันในสิ่งนั้น รู้เท่าทันสุข รู้เท่าทันทุกข์ ว่ามีเกิดมีดับเป็นของธรรมดา
*******************
สุขที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่สุขแท้เท่ากับความสุขที่เกิดจากปัญญา
        เพราะความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ปรุงแต่งมันไม่จีรังยั่งยืน มันไม่ถาวร และเราก็ต้องเหนื่อยกับการปรุงแต่งนั้นเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งผิดกับความสุขที่เกิดจากปัญญา เมื่อปัญญามีขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ก็จะรู้จักวางเฉย รู้จักปล่อย ไม่เร้าหรือ ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ ไม่พยายามผลักไส ปล่อยมันไว้อย่างนั้น ให้มันย่อยสลายไปเอง ไม่ยึดสุข ไม่หนีทุกข์ สบายๆ
        ฉะนั้น "ผู้มีสติ"  จึงเท่ากับได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา...ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน มันมีอยู่ทุกเวลา เพราะอะไร ? เพราะเรามีความรู้อยู่ ในเวลานี้ เราจึงมีชีวิตอยู่กลางธรรมะ จะเดินไปข้างหน้า...ก็เจอธรรมะ จะถอยไปข้างหลัง...ก็เจอธรรมะ หันซ้ายแลขวาก็เป็นธรรมะ เพราะธรรมะเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา จึงขอให้มี "สติ" ถ้ามีสติแล้ว มันจะเห็นกำลังใจของตน เห็นจิตของตน  ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้  รู้ถึงที่แล้ว ก็รู้แจ้งแทงตลอด...เมื่อมันรอบรู้อยู่เช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติ มันก็ถูกต้องดีงาม
************
จงระวัง
ระวังความคิด ของเรา เพราะความคิดของเราจะกลายเป็นความประพฤติของเรา
จงระวังความประพฤติ ของเรา เพราะความประพฤติของเราจะกลายเป็นความเคยชินของเรา
จงระวังความเคยชิน ของเรา เพราะความเคยชินของเราจะกลายเป็นอุปนิสัยของเรา
จงระวังอุปนิสัย ของเรา เพราะอุปนิสัยของเราจะกำหนดชะตากรรมของเราชั่วชีวิต
*************
ไม่ฉลาดรักษาใจ จึงกวัดแกว่งไปตามอารมณ์
        เปรียบน้ำที่สะอาด มันจะมีความใสที่สะอาดปกติดี ถ้าหากเราเอาสีอะไรใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีนั้น
        จิตใจเรานี้เช่นกัน  เมื่อมันถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจมันก็สบาย ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็ไม่สบาย มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่ง
*****************

พูดดีเข้าใจง่าย พูดร้ายเข้าใจยาก
        คนเรามันชอบฟังแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นละ แต่ดีอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกกาลเทศะ มันจึงจะได้ผล อย่างเวลาจะสอนคน หากไปสอนตอนที่ทะเลาะกัน จ้างก็ไม่ฟัง บัวใต้น้ำ ย่อมไม่รู้จักคุณค่าของแสงตะวัน อาหารที่มันอร่อย ยังไงก็ต้องเอาเข้าทางปาก ถึงจะเกิดประโยชน์ หากเอาเข้าทางอื่น มันก็จะให้โทษ 
****************
หยุดชั่ว มันก็ดี
        คนไม่ดีก็อยากจะเอาบุญนะ อยากได้บุญ  แต่...ผ้ายังสกปรกอยู่ ยังไม่ได้ทำความสะอาด จะย้อมสี ย้อมยังไงมันก็ไม่สวย เพราะผ้ามันไม่สะอาด สีมันก็เลยไปติดแบบกระดำกระด่าง  ดังนั้น การไม่กระทำบาปนั้น...มันเลิศที่สุด "การทำบุญ" โจรมันก็ทำได้ แต่มันเป็น..."ปลายเหตุ"  "การไม่กระทำบาป" ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็น..."ต้นเหตุ"
***************

        ฟังธรรมศึกษาธรรมในคัมภีร์แล้วไม่นำมา ปฏิบัติ ก็เหมือนกับถือข้าวถือแกงไว้เท่านั้นยังไม่ได้กิน ยังไม่ได้ลิ้มรสก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถือไว้ก็หนักเปล่าๆ
        และ การปล่อยวางไม่ใช่การอยู่เฉยๆ , ปล่อยทุกอย่างรอบๆตัวไปตามยถากรรม โดยไม่แคร์ไม่สน ไม่ทำอะไร แต่...การปล่อยวางคือการทำให้ดีที่สุด บนพื้นฐานที่ไร้กิเลสไม่ทำเพื่อตนเอง แล้วอะไรจะเกิดมันก็เกิดไปตามนั้นถือว่าทำดีที่สุดแล้ว
การปล่อยวาง
        คนที่ยังมืดอยู่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจหรอก ก็จะหลับหูหลับตาแบกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออะไรมากมายนั้นยังไม่ยอมปล่อย ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเราก็เหมือนสิ่งที่เราแบกอยู่นั้น หากไม่คิดปล่อย มันก็แบกอยู่อย่างนั้น หนักอยู่อย่างนั้น ไปตลอดชีวิต
การฝึกใจต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น
        ในการฝึกใจให้ปล่อยวางนี้ เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งสรรเสริญ ทั้งนินทา ความต้องการแต่สรรเสริญ และไม่ต้องการนินทานั้น เป็นวิถีทางของโลก แต่แนวทางของพระพุทธเจ้าให้รับสรรเสริญ และก็ให้รับนินทาตามเหตุตามปัจจัยของมัน
        ใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจ ใช้ความฉลาดรักษาใจไว้ แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจ เมื่อฝึกบ่อยๆมันก็จะสามารถกำจัดทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เอง มันทำให้ใจสับสน มืดมัว มันเกิดขึ้นที่นี่ มันก็ตายที่นี่
-------------------------------------------------------------------------------
หลวงพ่อชา ชี้ว่า ..
        อารมณ์ทั้งหลายอุปมาอุปมัย เหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรมาขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษของมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออก ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น
        ดังนี้ ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมดสิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ไม่ชอบก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งพิษที่มีอยู่ในตัวมันนั่นเอง
*******************
        เกิดมาพร้อมกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ทำทุกอย่างด้วยกัน แต่ไม่เห็นกัน มันเป็นซะอย่างนั้น พอเห็นคนตาย เห็นอสุภะเน่าเหม็น ก็เกลียดก็กลัว ทั้งๆที่ไอ้สิ่งที่เกลียดที่กลัวมันก็อยู่ในตัวของเรานี่เอง โครงกระดูกก็อยู่ในตัวเรา น้ำเลือดน้ำหนอง ก็อยู่ในตัวเรา ทำไมไม่เกลียดไม่กลัวของๆตัวเอง ไปเกลียดไปกลัวของๆคนอื่นทำไม?
********************
        กัมมัฏฐานเบื้องต้น จึงให้พิจารณาเกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือสิ่งที่มันอยู่กับเรานี่แหละ ไม่ใช่ไปพิจารณาคนอื่น ร่างกายหรือสิ่งที่เกิดกับคนอื่น แม้กระทั่งความดีความไม่ดีของคนอื่น  คือ พิจารณาแบบ โยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับแห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ รู้ถึงเหตุให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดแบบถูกวิธี ต้องน้อมกลับมาพิจารณาตัวเอง ปัญญามันจึงจะเกิด การพิจารณาคนอื่นมันมีแต่เพิ่มโลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นกับใจตนเอง  ถ้าเราไปเพ่งเล็งคนอื่นว่า คนนั้นชั่วคนนี้ดี แสดงว่าเราเลวมาก เราควรจะดูใจของเราต่างหากว่า เรามันดี หรือ เรามันเลว ถ้าเราดีเสียอย่างเดียว ใครเขาจะเลวร้อยแปดพันเก้า ก็เรื่องของเขา การพิจารณาก็เพื่อให้ใจตนเองสะอาดหมดจด ตัดนิวรณ์ให้มันหมดจนไม่มีเหลือ หลังจากนั้นจึงมากำหนดลมหายใจเข้าออก  กำหนดรู้อิริยาบถน้อยใหญ่ พิจารณาอาการ 32 ในตน ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ถ้าจะพิจารณาให้เห็นอาการเหล่านี้เป็นของปฏิกูลล้วนแต่ไม่สะอาด ก็เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน แล้วค่อยกำหนดรู้ถึงอสุภะ ความไม่สวยไม่งามทั้งหลายทั้งสิ้น
         *****************

ขอเจริญพรให้ทุกท่านมีสติถึงพร้อมก่อนวันพระทุกท่านเทอญ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความโศกย่อมเกิดจากความรัก

ภาพุทธประวัติและบรรยาย

มหาสังฆทาน