ธรรมะจากพระพุทธเจ้า...

ธรรมะจากพระพุทธเจ้า...
        พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในกฎความจริงของโลกและชีวิต... หรือกฎของอริยสัจหรืออริยสัจ ๔ หมายถึง... พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น...
             อริยสัจ ๔ ประกอบด้วยความจริง ๔ อย่าง ดังนี้...
             ๑. ทุกข์     =     ทุกข์...
             ๒. สมุทัย   =     เหตุของทุกข์...
             ๓. นิโรธ    =     ความดับทุกข์...
             ๔. มรรค    =     หนทางแห่งการดับทุกข์...
              พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้)... และเป็นโลกวิทูคือ ทรงรู้จริง... รู้แจ้ง... ของโลกและชีวิตทั้งโลกภายในและโลกภายนอก... หมายถึงรู้แจ้งสภาวะแห่งโลก... รวมทั้งรู้เรื่องในสังขาร... ทั้งหลายและอัธยาศัยสันดานของสัตว์โลก... จากนั้นพระพุทธเจ้าได้นำเอาคำสอน... ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มา...สอนคนให้มีดวงตาเห็นธรรมให้ดับทุกข์ได้... ซึ่งมีทั้งคนธรรมดาทั่วไปและมีทั้ง... เจ้าฟ้า... เจ้าแผ่นดินมากมาย...
        พระพุทธองค์สอนให้น้อมเข้ามาดูตน ให้มาพิจารณาตน แม้การบวชก็ขออย่าเพียงแต่บวชกาย ให้บวชใจด้วย การบวชใจสำคัญกว่าการบวชกาย เพราะการบวชกายบั้น เพียงแค่เปลี่ยนเครื่องแบบที่สวมใส่ ก็ได้ชื่อว่าบวช แต่การบวชใจนั้น ต้องมีการศึกษา ปฏิบัติ และสุดท้ายก็คือการเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่เรารู้เราเข้าใจ ให้กับผู้อื่นต่อไป
        การบวชใจจึงไม่จำเป็นต้องบวชกายเท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่าบวช ใครๆก็บวชได้ บวชด้วยการประพฤติสัมมาปฏิบัติ บวชด้วยการรักษาศีล เข้าใจในธรรม เพราะคำว่าบวชหมายถึงการละ เมื่อละได้ก็บวชได้ 
        การบวชใจจึงมิได้อยู่ที่อายุ ไม่ได้อยู่ที่การศึกษา และไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่อยู่ที่สติปัญญาและสามัญสำนึกของตน
        บางคน เน้นนะบางคน ทำดีไม่ได้ ทำได้ไม่ดี คิดดีไม่ได้ คิดได้ไม่ดี คือมันไม่ดีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย บางคนรู้เรื่องคนอื่นมากกว่ารู้เรื่องตนเองอีก หน้าที่การงานตนเองไม่รู้ต้องมีคนคอยบอกคอยสั่ง แต่หน้าที่คนอื่นดันรู้ไปหมดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ใช่ อย่างนั้นไม่ใช่ นั่น.. รู้ดีกว่าคนที่เขาทำอีก คือไปยุ่งวุ่นวายเรื่องในความรับผิดชอบของคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น โดยไม่รู้จักขอบเขตและสิทธิส่วนบุคล เมื่อไม่รู้จักก็ไม่รู้ที่จะเคารพสิทธิ์ของเขา มันน่าสงสารนะคนประเภทนี้ เพราะเขาขาดความเมตตาจากคนรอบข้างที่จะตักเตือน อบรมสั่งสอน ถึงความถูกผิดกาลเทศะ งานการของตนไม่เคยทำ วันๆได้แต่หายใจทิ้งกับนินทาคน และยุ่งเรื่องคนอื่น มันแปลกนะ รู้ไปทำให้สมองตนเองพัฒนาขึ้นมาหรือเปล่าก็ไม่ใช่ ? รู้ไปแล้วทำให้พูด เขียน อ่าน ได้หลายภาษาหรือเปล่าก็ไม่ใช่ ? แต่ก็เห็นขยันที่จะรู้เรื่องชาวบ้านเขาเหลือเกิน และที่น่าประหลาดใจมากที่สุดก็คือคนเราทุกวันนี้ ชอบมโน คือมโนเก่ง ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ คิดเองเออเอง บางคนไม่เคยได้คุยได้พูดได้เสวนา ไม่เคยคบกัน ไม่เคยกินข้าวด้วยกัน ไม่เคยนอนด้วยกัน แต่รู้ไปหมดว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น กินอะไร ทำอะไร นอนกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ เออ...สงสัยเป็นหมัดหมาหมัดแมว เป็นตัวเรือดตัวไร มาแอบนอนซุกใต้ที่นอนหรือเปล่า ถึงได้รู้ดีขนาดนั้น ทั้งๆที่บางเรื่อง เจ้าตัวเองแท้ๆเขายังไม่รู้เลยว่าไปเผลอทำตอนไหน? อนาถใจแท้ ดีก็เรื่องของเขา ไม่ดีก็เรื่องของเขา ทำไม?ชอบเอาตนเองไปเกี่ยวข้องกับเขาให้มันหนักอกหนักใจ ก็ไม่รู้ แล้วไอ้เรื่องที่ว่ารู้นั้นที่จริงไม่รู้เลย สืบไปสืบมาหาต้นตอไม่ได้ มโนเอาทั้งนั้น
        คนประเภทนี้แหละที่ก่อสร้างบาปกรรมให้กับตนเอง ทรมานตนเอง ทำร้ายตนเอง ที่จริงน่าจะเอาเวลาเหล่านั้น ไปเรียน ไปทำงาน ไปพิจารณา เพิ่มศักยภาพของตนเองยังจะมีประโยชน์กว่า ทั้งต่อตนเองและต่อโลก จะได้ไม่เกิดมาเป็นภาระของต้นไม้ที่ผลิตออกซิเจนหล่อเลี้ยง แต่ไม่ได้ทำคุณประโยชน์ใดๆตอบแทนให้โลก
             ในสมัยของพระพุทธเจ้ามีคนได้ฟังธรรมจาก... พระพุทธเจ้า  แล้วสามารถบรรลุธรรมได้มากมาย... และมีการบรรลุธรรมกันอย่างง่ายๆ ไม่เหมือนสมัยนี้... เช่น พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกหลังจากบรรลุ...เป็นพระพุทธเจ้าแล้วคือ การแสดงธรรมให้กับ... ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ คือ ธรรมจักรกับปวัตนสูตร... อันเป็นปฐมเทศนาธรรมดังนี้
             พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางที่ผิดให้ปัญจวัคคีย์... หรือนักบวชว่าไม่ควรประพฤติปฏิบัติอยู่ ๒ ทางคือ
             ๑. การประกอบตนให้พันพัวด้วยสุขในกามคือ ความอยากในกามใคร่ และความอยากในกามวัตถุ
             ๒. การประกอบทรมานตนให้ลำบากเปล่า
             จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมที่บรรพชิตควรปฏิบัติคือ ทางสายกลาง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรค ประกอบด้วยด้วยมรรคมี องค์ ๘ เป็นทางที่จะนำไปสู่ปัญญา มีความรู้ยิ่งและเพื่อความดับทุกข์ ให้รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ประการ คือทุกข์กับการดับทุกข์
        พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม อนันตลักขณสูตร ให้ฟังต่อคือ ให้รู้จักขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า มันไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นของเราจริง เราก็สามารถบังคับมันได้ หรือสั่งมันได้
             แล้วพระพุทธเจ้าก็ถาม... แล้วให้ปัญจวัคคีย์ตอบว่าดังนี้...
             ขันธ์ ๕ มีรูป (ร่างกาย)... แล้วรูปเป็นของเที่ยงหรือ... ไม่เที่ยง
             ขันธ์ ๕ มีเวทนา (ความรู้สึก)... แล้วเวทนาเที่ยงหรือ... ไม่เที่ยง
             ขันธ์ ๕ มีสัญญา (ความจำ)... แล้วสัญญาเที่ยงหรือ... ไม่เที่ยง
             ขันธ์ ๕ มีสังขาร (ความคิด)... สังขารเที่ยงหรือ... ไม่เที่ยง
             ขันธ์ ๕ มีวิญญาณ (ความรู้)... วิญญาณเที่ยงหรือ... ไม่เที่ยง
             สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์หรือเป็นสุข = เป็นทุกข์
             สิ่งใดที่ไม่เที่ยงมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามยึดมั่นว่า นั้นเป็นของเรา
             การยึดมั่นถือมั่นในตัวของตัว คือขันธ์ ๕ เช่น การติดในรูป ติดในกาม ติดในรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ เป็นทุกข์ทั้งปวง...
             ในตอนต้นทุกครั้งที่พระพุทธเจ้าจะสอนธรรม พระพุทธเจ้าจะสอนให้เรา รู้จักตัวเราเองก่อน ว่าตัวเราเป็นใคร ตัวเราประกอบไปด้วยอะไร พอรู้จักตัวเราแล้ว พระพุทธเจ้าจะสอนเรื่อง ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะดับมันได้อย่างไร
             พระพุทธเจ้าแสดงธรรมว่า ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น เมื่อรู้ได้ด้วยปัญญาแล้ว สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ดี เมื่อรู้...ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยง เกิดดับย่อม ปล่อยวาง ย่อมพิจารณาเห็น ความสละคืน คือไม่ยึดมั่น ถือมั่น ย่อมพิจารณาเห็นความดับของทุกข์ได้
        ไม่มีใครเนรมิตความดีหรือความไม่ดีให้ใครได้หรอก ดีก็ส่วนใครส่วนมัน ไม่ดีก็ส่วนใครส่วนมัน กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์โลกทุกชนิดมีกรรมเป็นของตน ไม่ต้องไปห่วงว่าเขาจะดีกว่าตนหรือเด่นกว่าตน ทุกคนมีกรรมเป็นของๆตัวอยู่แล้ว คนฉลาดหรือโง่ เขาดูกันที่การเติมเสริมแต่งอะไรให้ชีวิต ดูว่าหาอะไรใส่ให้ตนเอง วิชาความรู้หรือกิเลสตัณหา คนที่เป็นทุกข์เพราะอิจฉาริษยาคนอื่น ก็เพราะยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่มันเป็นโลกธรรม ขาดคุณของธรรมะมาประดับจิตใจตน หรือให้เป็นเครื่องนำทางชีวิต หรือช่วยยกระดับจิตใจให้มันสูงขึ้นจากเดิม นั่นก็เพราะขาดสติรอบรู้และขาดปัญญา โดยเฉพาะขาดหลักธรรมชั้นสูง
 " พรหมวิหาร 4 "
1.เมตตา รู้สึกสงสารผู้อื่น เอ็นดูผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ใครจะด่าจะว่า หรือใครจะมาทำร้าย ก็ยังนึกเอ็นดูสงสารในคนเหล่านั้น หากมีศัตรู ก็คิดกับศัตรูดั่งมนุษย์ที่น่าสงสารคนหนึ่งที่ยังเวียนว่ายตายเกิดหาที่สุดไม่ได้ มองศัตรูด้วยสายตาที่เอ็นดูดั่งสายตาของมารดาแลดูบุตร สิ่งนี้จะทำให้ท่านมีแววตาเป็นประกายดั่งแก้วใส และมีพลังทำให้คนที่คิดร้ายหรือศัตรูต่างๆเปลี่ยนใจมาคิดดีต่อเรา ไปที่ไหนคนก็รักใคร่ อยากใกล้ชิด มีคนรักมากกว่าคนเกลียด แม้ว่าจะเพิ่งรู้จักกันก็ตาม คนที่มีเมตตาต่อผู้อื่นสังเกตได้ไม่ยากจากคนรอบข้างของเขา จากมิตรของเขา คนประเภทนี้จะพวกเยอะ ส่วนมากก็เป็นมิตรมีคุณภาพ จริงใจ เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน ทำอะไรก็สำเร็จเพราะได้รับการสนับสนุนจุนเจือจากสังคมรอบข้าง เพราะกระแสพลังของความเมตตา มีพลังมากที่สุดในโลกใบนี้ เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก
2.กรุณา ยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ช่วยเหลือแม้กระทั่งศัตรู ช่วยแม้กระทั่งไม่ทำให้ศัตรูโกรธเรา ช่วยไม่ให้เค้าเผลอก่อกรรมกับเรา เค้าด่ามาก็ไม่ด่าตอบ เพื่อช่วยให้เค้าไม่มีเวรกับเรา ไม่ใช่เขาได้ดีก็อิจฉา พอเขาล้มมาก็ซ้ำเติม อย่างนี้ใครเขาอยากจะคบหา พระพุทธองค์สอนให้ทำทาน เพื่อลดความตระหนี่ในตัว และเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน เป็นการทำบุญซึ่งถือว่าเป็นอริยทรัพย์ตามติดไปภพหน้าได้ทุกภพ ผู้ที่มีความกรุณาจะดูมีสง่าราศี แม้แต่หมายังไม่กล้ากัด คนเจอหน้าก็รักใคร่ ไปที่ไหนคนก็อยากเสวนาด้วย ไม่ใช่แบบตรงกันข้ามคือวันๆไม่มีใครอยากคุยด้วยหากไม่จำเป็น ปีหนึ่งๆผ่านไปหาใครคบเพิ่มเติมแม้คนเดียวก็ไม่ได้ ไอ้ที่มีอยู่ก็ผละออกไปทีละคนจนต้องอยู่เดียวดายในโลกนี้ สุดท้ายก็เป็นบ้า
3.มุทิตา ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นมี ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นเป็น ใครจะได้ดีกว่าเราก็ยินดีกับเค้า เค้าทำความดีเราก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยา ไม่ไปนินทาให้ร้ายเค้า ไม่หมั่นไส้หรือน้อยเนื้อต่ำใจใดๆ ส่วนใครด่าว่าเราก็ยินดีในเสียงที่ด่าเข้ามา เสียงนินทาเราก็ยินดีที่เค้าได้นินทาเราไป เพราะแสดงว่าเราได้เคยทำกรรมกับเขามาก่อน เราจึงต้องมาโดนด่าในวันนี้ ส่วนที่เราต้องยินดี นั่นก็เพราะว่าเราได้มีโอกาสได้ชดใช้กรรมแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสชดใช้กรรมให้หมดไปโดยไม่เกิดการจองเวรกัน และได้บุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ อภัยทาน
      นี่เป็นการทำให้เรายินดีน้อมรับแม้แต่คำด่าคำติฉินนินทา ยินดีที่ผู้อื่นดีกว่าเรา ยินดีที่เราไม่มีวันจะเก่งเหมือนใคร พอใจที่เกิดมาแบบนี้ แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก จะมีความมั่นใจในตัวเอง และสีหน้าสว่างไสว ความหมองจะไม่มี
4.อุเบกขา การวางเฉย ระลึกเสมอว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลวหรือดี เขาก็ยังเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเรา เขาทำอะไรมา ท่านก็วางเฉย อย่าไปเอามาเก็บจนปั่นป่วนใจ มีใจเป็นกลาง ใครมาพูดอะไรกระทบใจ ก็ทำใจเฉยๆไว้ เหมือนสายลมโชยที่พัดคลอใบหู ไม่มีแก่นสารใดๆให้มาทำร้ายใจเราได้ ใครทำอะไรมาก็วางเฉย เพราะเชื่อในกรรมว่า กรรมจะจัดสรรผลกรรมได้ยุติธรรมที่สุด ความทุกข์ที่แท้จริงคือทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น
     ดังนั้นวางเฉยซะ ความทุกข์เล็กๆน้อยๆจะทำอะไรเราไม่ได้เลย มองความทุกข์พวกนั้น ให้เล็กน้อยเหมือนสายลมโชยผ่านสลายไป เรื่องที่ต้องทำคือเรื่องตัวเอง ว่าทำยังไง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องคนอื่นไม่ต้องไปแก้นิสัยใคร ไม่ต้องไปเก็บคำพูดหรือการกระทำคนอื่นมาจ้องจับผิดหรือตีโพยตีพาย หรือเอามาใส่ใจจนเจ็บข้ามวันข้ามคืน แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก ใครเห็นใครรัก เวลาดวงตกก็จะไม่หนักเหมือนคนอื่น นี่คือพลังของอุเบกขา
แผ่เมตตา พรหมวิหาร 4 - สุขเพื่อผู้อื่น บุญกุศลและสติปัญญาต่อตัวเอง

แผ่เมตตา- ได้บุญได้กุศล โดยไม่ต้องเสียเงิน
        การแผ่เมตตาพรหมวิหาร 4 หนึ่งในหลักธรรมนำใจใกล้ตัว ที่ช่วยให้ดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐ เพื่อประโยชน์และความสุขต่อผู้อื่น โดยที่ตัวเราก็จะได้บุญกุศล และสติปัญญาเป็นการตอบแทน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุติทา อุเบกขา
         ในวันหนึ่ง เราสามารถแผ่เมตตาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำเป็นว่าหลังสวดมนต์เท่านั้น เรียกว่า เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้บุญแบบไม่เสียเงิน และช่วยให้ทำให้ใจเป็นกุศลได้ แม้ต้องอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรง หรือคนรอบข้างที่ทำให้ขุ่นใจ 
แผ่เมตตาแบบมีสติปัญญากำกับ
       ควรแผ่เมตตาแบบมีสติ ปัญญากำกับ มิฉะนั้นจะพลิกผันกลายเป็นราคะไปได้ ดังเช่น พระหลายรูปที่ขาดสติกำกับความเมตตา จนต้องลาสิกขาเพื่อแต่งงานดำเนินชีวิตแบบฆราวาสดังคำกล่าวของพระสารีบุตรทีว่า ข้าศึกใกล้ของ เมตตา คือ ราคะ
ลำดับการแผ่เมตตา
บุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้เป็นอันดับแรก
        บุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้ก่อนคือ ตนเอง เพื่อจะได้ถือตนเป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
 “มองดูไปทั่วทิศแล้ว พิจารณาไม่เห็นใครอื่นอันจะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตน  คนอื่น สัตว์อื่นก็ย่อมรักตนเองมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
       เมื่อทำตนให้เป็นพยานดังนี้แล้ว การที่จะแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นก็จะสะดวกขึ้นมากหลังจากแผ่เมตตาให้แก่ตนแล้ว ก็พึงลำดับการแผ่เมตตาไปยังบุคคลต่อไปนี้
        1. บุคคลอันเป็นที่รัก  2. บุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง  3. บุคคลที่ไม่รัก ไม่ชัง  4. บุคคลที่เป็นศัตรูกัน


ความหมายของพรหมวิหาร 4
 พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ ได้แก่
 1) เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ เป็นต้น
 2) กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
        - ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และความตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
       - ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
 3) มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
        คำว่า ดีในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น
       ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน  หากหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตาจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
 4) อุเบกขา การรู้จักวางเฉย
        หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม
        คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
พรหมวิหาร 4 เกื้อกูลทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น
           จะเห็นได้ว่า 3 ข้อแรก คือ เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นการสร้าง "เหตุ" อันเป็นกุศล
            ส่วนข้อที่ 4 อุเบกขา เป็นการปล่อยวางใน "ผล"
            เป็นการเข้าใจและวางใจไว้ตามความเป็นจริงของเหตุปัจจัยที่ส่งให้เกิดผล
เหตุที่ปล่อยวางใน ผลเพราะ
....ผลเกิดจากเหตุ ไม่ได้เกิดจากเรา....
....จึงปล่อยให้เหตุเขาทำหน้าที่ของเขาไป....
....เราได้สร้างเหตุอันเป็นกุศลอย่างดีที่สุดแล้ว ก็หมดเรื่องของเรา....
....ถึงเราอยากจะให้ผลเป็นอย่างไร ผลเขาก็ไม่ได้สนใจเชื่อฟังเราอยู่แล้ว....
....เราได้สร้างเหตุที่เป็นกุศลแล้ว ใจเราก็เป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว....
....ใจเราก็ไม่ถูกกระแสของความดีใจ-เสียใจครอบงำได้....
....มันก็มีแต่ความ"พอ"อยู่ในหัวใจของเราเท่านั้นเอง....
อานิสงส์ที่ได้  - ความสุขต่อผู้อื่น บุญกุศลและสติปัญญาต่อตนเอง 
พรหมวิหาร4 จึงเป็นธรรมที่เกื้อกูลกระจายออกทั่วไปหมดเพื่อประโยชน์และความสุขต่อผู้อื่น โดยที่เราก็จะได้บุญกุศลและสติปัญญาเป็นการตอบแทน
ยิ่งถ้าเราบำเพ็ญพรหมวิหาร4 กับตัวเราเอง กล่าวคือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง (ของเหตุและผล) ใจก็จะเบาสบายผ่องใส ก็ยิ่งได้อานิสงค์มากขึ้นไปอีก
กุศลหลายระดับตามกำลังปัญญา
         แม้จะเป็นกุศลจิตเมตตาเพียงเล็กน้อย  ก็ให้ผลให้อานิสงค์มากมายอย่างอัศจรรย์ทีเดียว  ยิ่งหากเป็นกุศลจิตที่เป็นเมตตาที่อบรมบ่อยๆ อย่างมีสติปัญญากำกับ จนตั้งมั่นอย่างมากถึงระดับ อัปนาสมาธิ(ณาณ) จะมีกำลังจนสามารถแผ่ไปได้กับสัตว์ทุกหมู่เหล่า เพราะมีกำลังมาก  
           ซึ่งอานิสงส์ นอกจากความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐแล้ว ยังมีอานิสงส์ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติด้านอื่น ๆ มากมาย ดังนี้
-- สุขัง สุปฏิ นอนหลับเป็นสุข เหมือนนอนหลับในสมาบัติ
-- ตื่นขึ้นมีความสุข ไม่มีความขุ่นมัวในใจ
-- นอนฝัน ก็ฝันเป็นมงคล
-- เป็นที่รักของมนุษย์ เทวดา พรหม และภูติผีทั้งหลาย
-- เทวดา พรหม จะรักษาให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
-- จะไม่มีอันตรายจากเพลิง สรรพาวุธ และยาพิษ
-- จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์สมาธิเป็นปกติ สมาธิที่ได้ไว้แล้วจะไม่เสื่อม มีแต่จะเจริญยิ่งขึ้น
-- มีดวงหน้าผุดผ่องเป็นปกติ
-- เมื่อจะตาย จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
-- ถ้ามิได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ ผลแห่งการเจริญพรหมวิหาร 4 นี้ จะส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลก
-- มีอารมณ์แจ่มใส จิตใจปลอดโปร่ง ทรงสมาบัติ วิปัสสนา และทรงศีลบริสุทธิ์
-- ที่สำคัญผู้ที่สามารถปฎิบัติตามคุณธรรม 4 ประการนี้ได้ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีศีลย่อมบริสุทธิ์ ย่อมมีฌานสมาบัติเพราะอาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความโศกย่อมเกิดจากความรัก

ภาพุทธประวัติและบรรยาย

มหาสังฆทาน